วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

1. เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)

หากจะเอ่ยถึงนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในทศวรรษนี้ คงจะไม่มีใครปฏิเสธชื่อของ เนลสัน แมนเดลา อย่างแน่นอน เพราะหากปราศจากบุคคลผู้นี้แล้ว โลกของเราก็คงจะยังมีการเหยียดสีผิว..ใช่แล้วล่ะ เขาเป็นรัฐบุรุษของโลก ผู้อุทิศตนต่อสู้เพื่อล้มล้างลัทธิเหยียดผิว และผลักดันให้เกิดสันติภาพทั่วโลก

          และจากข่าวการจากไปของ เนลสัน แมนเดลา ในช่วงที่ผ่านมานี้ ก็พลอยทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในแอฟริกาใต้ต่างเศร้าโศกกับข่าวดังกล่าว จนทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับบุคคลผู้นี้ และเขาได้สร้างวีรกรรมอะไรให้กับโลกเราบ้าง วันนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวประวัติชีวิตและการต่อสู้ของ เนลสัน แมนเดลา 

          โดย เนลสัน แมนเดลา เกิดวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ในครอบครัวชาวเทมบู ซึ่งพูดภาษาโซซา ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางฟากตะวันออกของแหลมเคปของแอฟริกาใต้ เดิมมีชื่อว่า มาดิบา ต่อมาครูในโรงเรียนได้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้เขาว่า แมนเดลา

          ต่อมาพ่อของเขาซึ่งเป็นที่ปรึกษาของตระกูลผู้ปกครองชาวเทมบู ได้เสียชีวิตขณะที่เขามีอายุได้ 9 ขวบ เขาจึงได้รับการชุบเลี้ยงจากรักษาการผู้สำเร็จราชการเมืองเทมบู จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2484 เมื่อมีอายุ 23 ปี เนลสัน แมนเดลา ได้หนีจากการถูกจัดให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน หลบไปอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ก่อนจะเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิทส์วอเทอแรนด์ ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน และที่นี่ทำให้เขาได้พบเจอผู้คนจากทุกเชื้อชาติ ได้รับความคิดแบบเสรีนิยม และความคิดต่อสู้เพื่อชาวแอฟริกัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเหยียดผิว การถูกกระทำแบบสองมาตรฐาน ซึ่งผลักดันให้เขากลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางก
ารเมือง

          โดยในปี พ.ศ. 2486 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน หรือเอเอ็นซี และต่อมาได้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตยุวชนเอเอ็นซี อีกทั้งเขาได้ร่วมกับเพื่อน โอลิเวอร์ แทมโบ ก่อตั้งสำนักงานกฎหมายในเมืองโจฮันเนสเบิร์กในปี พ.ศ. 2495 รณรงค์ต่อต้านระบอบปกครองที่เหยียดผิวของพรรคคนผิวขาว ที่กดขี่ชาวผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จนทำให้ในปีพ.ศ. 2499 แมนเดลาถูกแจ้งข้อหากบฏพร้อมกับนักเคลื่อนไหวอีก 155 คน แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเขาหลังสอบสวนอยู่นาน 4 ปี

          ต่อมาได้มีการออกกฎหมาย Pass Laws ฉบับใหม่ซึ่งจำกัดเขตอยู่อาศัยและทำมาหากินของคนผิวดำ ทำให้กระแสต่อต้านการเหยียดผิวได้ขยายตัวไปทั่วแอฟริกาใต้ ขณะที่พรรคเอเอ็นซีก็ถูกประกาศให้เป็นกลุ่มเถื่อนในปี พ.ศ. 2503 ทำให้ เนลสัน แมนเดลาต้องหลบลงใต้ดิน อย่างไรก็ดี กระแสการต่อต้านลัทธิเหยียดผิวได้รุนแรงขึ้นจนถึงที่สุดเมื่อตำรวจได้สังหารหมู่ชาวผิวดำ 69 คนในเมืองชาร์ปวิลล์ในปีเดียวกันเนลสัน แมนเดลา ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานเอเอ็นซี ได้เปิดปฏิบัติการวินาศกรรมทางเศรษฐกิจจนกระทั่งถูกจับในที่สุด และเขาถูกแจ้งข้อหาก่อวินาศกรรม และพยายามโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรง โดยระหว่างการพิจารณาคดีที่เมืองริโวเนีย แมนเดลาได้ประกาศความเชื่อของเขาในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียมว่า

          "ผมเชิดชูอุดมคติเรื่องสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ ที่ซึ่งคนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือสังคมอุดมคติที่ผมปรารถนาจะไปให้ถึง เป็นอุดมคติที่ผมพร้อมจะอุทิศชีวิตให้"

          อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2507 เขาถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตบนเกาะร็อบเบนเป็นเวลา 18 ปี ก่อนถูกย้ายมายังเรือนจำโพลส์มัวร์บนแผ่นดินใหญ่ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งขณะที่เขาถูกจองจำอยู่นั้น พวกเยาวชนตามเมืองต่าง ๆ ของชนผิวดำยังคงต่อสู้กับการปกครองโดยคนผิวขาวส่วนน้อยต่อไป จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก

          ขณะที่ทางฝั่งของ โอลิเวอร์ แทมโบ สหายของแมนเดลา ผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ เขาได้เริ่มรณรงค์ในระดับสากล เรียกร้องให้ปล่อยตัวมิตรร่วมอุดมการณ์ในปี พ.ศ. 2523  โดยมีการจัดคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาเวมบลีย์ในกรุงลอนดอนในปี 2531 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 72,000 คน อีกหลายล้านทั่วโลกรับชมทางโทรทัศน์ และร่วมร้องเพลงเพื่อให้ปลดปล่อยเนลสัน แมนเดลา

          โดยกระแสเรียกร้องนี้ ทำให้บรรดาผู้นำโลกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อระบอบเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 แล้ว จนในที่สุด ประธานาธิบดี เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิร์ก ก็ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันจากทั่วโลกได้ และเลิกสั่งแบนพรรคเอเอ็นซีในปี พ.ศ. 2533 พร้อมกับปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา

          ในปี พ.ศ. 2536 เนลสัน แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และต่อมาชาวแอฟริกาใต้ทุกผิวสีได้ออกเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ทำให้ เนลสัน แมนเดลาได้รับเสียงโหวตท่วมท้นให้เป็นประธานาธิบดีในวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ซึ่งเขาได้ปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวหรือชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ และได้รับความยกย่องจากนานาชาติสำหรับการอุทิศตนเพื่อการประสานไมตรีทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 เขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และได้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเขายังคงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับเรื่องสิทธิมนุษยชนและให้ความรู้เรื่องการติดต่อของโรคเอดส์จนกระทั่งอายุ 85 ปี ก่อนจะขอเกษียณเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

          และถึงแม้ว่า ณ วันนี้ เนลสัน แมนเดลา จะถึงแก่อสัญกรรมแล้ว หลังจากป่วยด้วยโรคปอดและเกิดอาการแทรกซ้อนเรื้อรังมาอย่างอย่างนาน กระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่เขาก็ยังคงเป็นรัฐบุรุษของโลก และนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ที่อยู่ในหัวใจของคนทั่วโลกตลอดกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น