วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

6. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)


เกิด วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1879 ที่เมืองอูล์ม (Ulm) ประเทศเยอรมนี
เสียชีวิต วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1955 ที่เมืองนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผลงาน
- ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity)
- ค้นพบทฤษฎีการแผ่รังสี (Photoelectric Effect Theory)
- ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ.1921
  
        ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ไอน์สไตน์ถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และอาจกล่าวได้ว่า เขาคือผู้ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยระเบิดปรมาณูอันทรงอานุภาพแห่งการทำลายล้าง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ไอน์สไตน์ ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งถึงประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin Delano Roosevelt) เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของ แร่ยูเรเนียมที่สามารถนำมาสร้างลูกระเบิดพลังงานการทำลายสร้างรุนแรง เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นประกาศแพ้สงคราม และนำสันติภาพ มาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงตกลงทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกลงที่เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้คนเสียชีวิตทันทีกว่า 60,000 คน และเสียชีวิตภายหลังอีกกว่า 100,000 คน
          ไอน์สไตน์เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1879 ที่เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี ไอน์สไตน์เป็นชาวเยอรมันแต่ก็มีเชื้อสายยิวด้วย บิดาของไอน์สไตน์เป็นเจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องยนต์และสารเคมี ชื่อว่า เฮอร์แมน ไอน์สไตน์ (Herman Einstein) ต่อมาเมื่อ ไอน์สไตน์อายุได้ 1 ขวบ บิดาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองมิวนิค ซึ่งคนส่วนใหญ่ในเมืองเป็นชาวยิวเช่นเดียวกับเขา ทำให้เขาไม่มีปัญหากับ เพื่อนบ้าน ไอน์สไตน์เป็นเด็กที่เงียบขรึม และมักไม่ค่อยชอบออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน จนบิดาเข้าใจว่าเขาเป็นคนโง่ จึงได้จ้างครูมาสอนพิเศษให้กับไอน์สไตน์ที่บ้าน โดยเฉพาะเรื่องการพูด ถึงแม้ว่าการพูดของเขาจะดีขึ้น แต่เขาก็ยังเงียบขรึม และ ไม่ออกไปเล่นกับเพื่อนเหมือนเช่นเคย เมื่อไอน์สไตน์อายุได้ 5 ขวบ บิดาได้ส่งเข้าโรงเรียนที่ยิมเนเซียม (Gymnasium) นักเรียน ในโรงเรียนแห่งนี้ทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน และนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ถึงอย่างนั้นไอน์สไตน์ก็เข้ากับเพื่อนได้ดี แต่สิ่งที่เขาไม่ชอบมากที่สุดในโรงเรียนก็คือการสอนที่น่าเบื่อหน่าย ที่ใช้วิธีการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีการที่เขาเกลียดที่สุด ทำให้ไอน์สไตน์ไม่อยากไปโรงเรียน มารดาจึงหาวิธีแก้ปัญหาให้ไอน์สไตน์ โดยการให้เขาเรียนไวโอลินและเปียโนแทน แต่วิชาที่ ไอน์สไตน์ให้ความสนใจมากที่สุดคือ คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาเรขาคณิตเป็นวิชาที่เขาชอบมากที่สุด ทำให้เขาละทิ้งวิชาอื่น ยกเว้นวิชาดนตรี และเรียนวิชาอื่นได้แย่มาก แม้ว่าจะทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีมาก เขาก็มักจะถูกครูตำหนิอยู่เสมอ
        ต่อมาไอน์สไตน์อายุ 15 ปี กิจการโรงงานของพ่อเขาแย่ลง เนื่องจากการรวมตัวของบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและเคมีหลายแห่ง ทำให้โรงงานของพ่อเขาไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ครอบครัวของเขาต้องย้ายไปอยู่ที่เมืองมิลาน (Milan) ประเทศอิตาลี (Italy) แต่ไอน์สไตน์ไม่ได้ย้ายตามไปด้วย เพราะยังติดเรียนอยู่ แต่ด้วยความที่เขาคิดถึงครอบครัวมาก หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เขาได้วางแผน ให้แพทย์ออกใบรับรองว่าเขาป่วยเป็นโรคประสาท เพื่อให้เขาได้เดินทางไปหาพ่อกับแม่ที่อิตาลี เมื่อเป็นเช่นนั้นไอน์สไตน์จึงเดินทาง ไปหาครอบครัวที่มิลาน แต่ก่อนที่เขาจะออกเดินทางเขาได้ขอใบรับรองทางการศึกษา เพื่อสะดวกในการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนอื่น
        ต่อมาไอน์สไตน์ได้สอบเข้าเรียนต่อวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ที่วิทยาลัยโปลีเทคนิค เมืองซูริค (Federal Poleytechnic of Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไอน์สไตน์สอบวิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนดีมาก ส่วนวิชาชีววิทยาและภาษา ได้แย่มาก ทำให้ เขาไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนในวิทยาลัยแห่งนี้ ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ เขาได้รับจดหมายจากครูใหญ่วิทยาลัยโปลีเทคนิค ได้เชิญเขา ไปพบและแนะนำให้เขาไปเรียนต่อ เพื่อให้ได้ประการศนียบัตร ซึ่งสามารถเข้าเรียนต่อวิทยาลัยโปลีเทคนิคได้โดยไม่ต้องสอบ หลัง จากนั้นเขาจึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยของสวิตเซอร์แลนด์ ตามหลักสูตร 1 ปี ระหว่างนี้เขาได้พักอาศัยอยู่กับครูผู้หนึ่งที่สอนอยู่ในโรงเรียน แห่งนี้ ไอน์สโตน์รู้สึกชอบวิทยาลัยแห่งนี้มาก เพราะการเรียนการสอนเป็นอิสระไม่บังคับ และไม่จำกัดมากจนเกินไป แนวการสอน เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความสามารถของตน นอกจากนี้สภาพแวดล้อมในการเรียนยังดีมากดีด้วย เพราะได้มีการจัด ห้องเรียนเฉพาะสำหรับแต่ละวิชา เช่น ห้องเรียนภูมิศาสตร์ก็มีภาพแผนที่ สถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แขวนไว้ โดยรอบห้อง ส่วนห้องเคมีก็มีอุปกรณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย นอกจากนี้โรงเรียนแห่งนี้ยังมีนักเรียนจำนวนมาก ทำให้ ไอน์สไตน์ไม่รู้สึกว่ามีปมด้อยที่เป็นชาวยิวอีกต่อไป หลังจากที่เขาจบหลักสูตรที่โรงเรียนมัธยม 1 ปี ไอน์สไตน์ได้เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัย เทคนิคในสาขาวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ตามที่ได้ตั้งใจไว้



5. มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)


มิฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachyov - พ.ศ. 2474 - ) รัฐบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตรัสเซีย (พ.ศ. 2528-2534) ประธานาธิบดีแห่งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (USSR) (พ.ศ. 2531-2534) ความพยายามปฏิรูปสหภาพของกอร์บาชอฟได้นำไปสู่การยุติสงครามเย็น และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี พ.ศ. 2533
การศึกษาและการทำงาน             กอร์บาชอฟเกิดที่เมืองปรีวอลโนเย รัสเซีย ศึกษาวิชาด้านเกษตรกรรมที่มหาวิทยาลัยมอสโกและที่สถาบันเกษตรกรรมสตัฟโรโปล และเริ่มทำงานพนักงานเดินเครื่องจักรกลเมื่อปี พ.ศ. 2489 และเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2495 กอร์บาชอฟได้ทำงานก้าวหน้าในตำแหน่งระดับสูงต่าง ๆ ในเมืองสตัฟโรโปลและในองค์กรพรรคประจำอำเภอมาเป็นลำดับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499-2513
ความก้าวหน้าทางการเมือง          กอร์บาชอฟได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยผู้บริหารสูงสุดของ "สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต" หรือ Union of Soviet Socialist Republics (USSR)ในปี พ.ศ. 2513 และเป็นสมาชิกกรรมการกลางของพรรคในปี พ.ศ. 2514 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรระหว่างปี พ.ศ. 2523-2528 เป็นสมาชิกโปลิตบิวโรในปี พ.ศ. 2533 และเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ (พ.ศ. 2528-2534) แทนเชเนนโกที่เสียชีวิต ได้เป็นประธาธิบดีแห่งประธานโซเวียตสูงสุด (President of the Presidium of the Supreme Soviet) ในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนสุดท้ายของระบอบใหม่ก่อนการล่มสลายของสหภาพ
การปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมและการเมือง          ในระหว่างการดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค กอร์บาชอฟได้ริเริ่มโครงการปฏิรูปและปรับโครงสร้างแบบหน้ามือเป็นหลังมือในระบบเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของโซเวียตที่รู้จักกันในชื่อ "เปเรสตรอยกา" (Perestroika) มีการให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น ยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ เพิ่มเสรีภาพแก่สื่อและสิ่งพิมพ์ ปล่อยไห้มีเสรีภาพทางวัฒนธรรม ยอมได้มีการประเมินและแก้ไขประวัติศาสตร์ของประเทศภายใต้นโยบายเปิดเสรีด้านข่าวสารหรือ "กลาสนอสต์" (Glasnost)
การล่มสลายของสหภาพโซเวียต
          ด้านนโยบายการต่างประเทศและกลาโหม กอร์บาชอฟได้ตัดทอนลดงบประมาณด้านการทหาร ริเริ่มนโยบาย "หยุดยิง" (Detente) และลดอาวุธนิวเคลียร์กับฝ่ายตะวันตกพร้อมกับการถอนทหารออกจากการยึดครองประเทศอัฟกานิสถาน (พ.ศ. 2532) กอร์บาชอฟรอดจากการรัฐประหารเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2535 มาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในที่สุดก็ถูกบังคับให้ลาออกหลังจากการยุบพรรคคอมมิวนิสต์และการสลายตัวของสหภาพเมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2535
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นมา กอร์บาชอฟได้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธินานาชาติเพื่อการศึกษาด้านเศรษฐกิจ-สังคมและการเมือง (มูลนิธิกอร์บาชอฟ)





4. มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)


มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) มหาบุรุษผู้นำเอกราชคืนสู่ดินแดนภารตะ

ชื่อจริง    โมฮัมดาส์ คานธี (Mohandas Gandhi)

ประวัติย่อ

นักการเมืองชาวอินเดีย มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1869 - 1948 (79 ปี)

บทบาทสำคัญ

ผู้นำทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดียจากอังกฤษ โดยใช้สันติวิธี หรือ แบบอหิงสา เช่นการอดอาหารประท้วง การไม่ใช้ความรุนแรง จนทำให้อังกฤษยินยอมให้เอกราช ในปี ค.ศ. 1948แต่สุดท้ายตัวของคานธีเอง กลับถูกชาวฮินดูหัวรุนแรงลอบสังหาร เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1948

ใช้ชีวิตให้เสมือนว่าพรุ่งนี้ท่านจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เรียนรู้ให้เสมือนว่าท่านจะอยู่ในโลกนี้ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด
Live as if you were to die tomorrow. Learn as if you were to live forever


มหาตมะ คานธี หรือ โมฮันดาส คารามจันท์ คานธี (ค.ศ.1869-1948) เป็นนามที่กล่าวขวัญกันทั่วโลกในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เมื่อท่าน
สามารถนำประชาชนอินเดียทั้งประเทศเข้าต่อสู้กับจักรวรรดิอันเกรียงไกรของอังกฤษได้สำเร็จ ด้วยวิธีการที่ชาวตะวันตกคาดไม่ถึง สามารถเรียก
ร้องเอกราชกลับคืนสู่ประเทศและศักดิ์ศรีกลับคืนสู่ประชาชน ด้วยหลักการแห่ง “อหิงสา” คือ ความไม่เบียดเบียน อารยธรรมทางด้านจิตใจของชาว
เอเชีย ได้พิสูจน์ตัวเองอย่างเด่นชัดว่าอยู่เหนืออารยธรรมทางด้านวัตถุอันพรั่งพร้อมด้วยสรรพาวุธของชาวตะวันตก ด้วยอำนาจแห่งสัจจะและความรัก
เท่านั้นที่ปัญหาของมนุษยชาติจะอาจแก้ไขให้ลุล่วงไปได้
          ดังนั้น การใช้ความรุนแรง การประหัตประหาร หรือสงคราม จึงถือเป็นความผิดอย่างมหันต์ เพราะเท่ากับเป็นการสิ้นหวังในมนุษยชาติ เป็น
การทำลายคุณธรรมและความจริงที่ซ่อนอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน และเป็นการปลุกธรรมชาติฝ่ายต่ำของมนุษย์ให้แสดงพละกำลังออกมา อันกลาย
เป็นการจองล้างจองผลาญไม่มีที่สิ้นสุด วิธีที่จะเอาชนะความชั่วจึงไม่ได้อยู่ที่การทำลายคนชั่ว แต่อยู่ที่การเปลี่ยนจิตใจของคนชั่วโดยไม่ทำความชั่ว
ตอบ คานธีได้ย้ำเตือนอยู่เสมอว่า ให้เกลียดชังความเลวแต่อย่าเกลียดชังคนเลว เพราะทุกคนมีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีได้เสมอ

บาป 7 ประการในทัศนะของคานธี
          เขาเขียนไว้ในหนังสือเชิงอัตชีวประวัติของท่านเรื่อง “The Story of My Experiments with Truth” เมื่อปี ค.ศ. 1925 ภาษาอังกฤษ
สำนวนดั้งเดิมที่โด่งดังไปทั่วโลกเขียนไว้สละสลวยมากดังนี้
          1. เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ (Politics without principles.)
          2. หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด (Pleasure without conscience.)
          3. ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน (Wealth without work.)
          4. มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี (Knowledge without character.)
          5. ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลธรรม (Commerce without morality.)
          6. วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์ (Science without humanity.)
          7. บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ (Worship without sacrifice.)

หลักอหิงสาของมหาตมะคานธี
          แนวคิดของศาสนา ฮินดู ที่มีความหมายว่า หลีกเลี่ยงความรุนแรง และไม่เบียดเบียนเคารพในชีวิตผู้อื่น เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า การหลีกเลี่ยงความบาดเจ็บ อหิงสามักมีคนนำมาใช้ในการประท้วง เป็นการประท้วงแบบสันติ อย่างเช่น มหาตมะคานธี ซึ่งเป็นต้นแบบของ การประท้วงแบบอหิงสา ซึ่งหลังจากนั้นมาก็มีคนนำวิธีการประท้วงแบบอหิงสามาใช้เช่นกัน มหาตมะ คานธีได้ใช้หลักอหิงสาในการประท้วงกับรัฐบาลอังกฤษ ในอินเดียเพื่อเรียกร้องเอกราชทำควบคู่ไปกับ

สัตยเคราะห์ คือ วิธีการนี้เป็นวิธีการของความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวมั่นคง ที่จะยืนหยัดอยู่กับความจริงและความถูกต้อง โดยพร้อมที่จะยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง และตามทรรศนะของคานธี หลักสำคัญก็คือการควบคุมจิตใจไม่ให้เกิดความเกลียดชัง อันจะนำไปสู่ความรุนแรงและการต่อสู้ที่ใช้กำลังต่อไป ประท้วงอย่างยุติธรรม ด้วยความเยือกเย็นและสงบต่อสาธารณชนและต่อผู้ก้าวร้าว โดยพิจารณาถึงเหตุผลของผู้ก้าวร้าวด้วย ให้เวลาแก่ผู้ก้าวร้าวได้คิด และถึงแม้ว่าต่อมาฝ่ายก้าวร้าวจะไม่ยินยอมแก้ไขความผิดก็ตาม นักสัตยาเคราะห์ก็จะให้ฝ่ายนั้นได้รู้ถึงความตั้งใจของเขา ที่จะลงมือทำการ เคลื่อนไหวแบบ "อหิงสา" และก็กระทำจริงตามนั้นด้วย อย่างเช่น การรวมตัวกันประชาชนนับพันคน ไปรวมตัวสังสรรค์กันที่สวนสาธารณะชัลลียันวาลา เมืองอมฤตสระ เพื่อเรียกร้องเอกราช ได้ถูกนายพลไดเยอร์ ผู้บังคับบัญชากองทหารอังกฤษในอมฤตสระ ผู้ซึ่งเคียดแค้นชาวอินเดียและต้องการให้อินเดีย เห็นถึงอนุภาพของอังกฤษ โดยการยิงประชาชนที่มาชุมนุม เสียชีวิตนับพันคนเสียชีวิต และบาดเจ็บกว่าสามพัน โดยที่ประชนเหล่านั้น ไม่ได้ตอบโต้หรือต่อสู้ทางกำลังเลย ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษเสื่อมเสียเกียรติอย่างมากจนยากที่จะฟื้นตัว หรือเหตุการณ์ที่ประชาชนประท้วงกฎหมายอังกฤษ ที่ห้ามคนอินเดียทำเกลือกินเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะไม่ให้คนอินเดียใช้ทรัพยากรของอินเดีย โดยในวันที่ 12 มีนาคม คานธีได้เริ่มการเดินทางไปยังชายทะเลในตำบลฑัณฑี พร้อมกับประชาชนนับแสนคน ร่วมทำเกลือกินเอง เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอังกฤษที่ตั้งไว้ หรือเรียกว่า

“อารยะขัดขืน หรือ civil disobedience” คือการไม่ทำตามคำสั่งหรือกฎหมายของรัฐบาลหรือผู้ถืออำนาจ โดยปราศจากความรุนแรงทางกายภาพ ประชาชนได้กระทำการประท้วงโดยปราศจากการใช้กำลัง ถึงแม้ว่าจะถูกคนของรัฐบาลทำร้ายแต่ก็ยังเดินหน้าต่อไป แม้จะได้รับบาดเจ็บจากการถูกทุบตีก็ตาม การกระทำนี้ทำให้ มีการพูดถึงกันทั่วโลก ทำให้รัฐบาลอังกฤษยิ่งเสียหน้า และเริ่มใจอ่อน กับการให้เอกราชกับอินเดีย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่สำคัญก่อนได้รับเอกราชคือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม และประชาชนที่นับถือศาสนาฮินดู นำไปสู่การแบ่งแยกเป็นสองประเทศคืออินเดียและปากีสถาน เหตุการณ์นี้ทำให้คานธีเสียใจอย่างมาก และพยายามทำให้ประชาชนสามัคคีกัน อย่างเช่น เหตุการณ์ความรุนแรงในกัลกัตตา คานธีได้ประท้วงอดอาหารให้ประชาชนหยุดทะเลาะกัน จนในที่สุดประชาชนก็เลิกทะเลาะกัน และต่อมา รัฐบาลอังกฤษก็ได้ให้เอกราชกับอินเดียโดยสมบูรณ์

การกระทำของคานธีโดยใช้หลักอหิงสานั้น เป็นแบบอย่างให้กับ หลายๆประเทศทั่วโลก อย่างเช่น ขบวนการสิทธิพลเมือง ในสหรัฐอเมริกาที่เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของคนผิวขาวและผิวดำ เป็นต้น การชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องเอกราชโดยยึดหลักอหิงสาของมหาตมะ คานธีเป็นวิธีการต่อสู้แบบสงบที่เป็นวิธีที่ได้ผลและดีที่สุด จนเป็นแบบอย่างให้กับประเทศต่างๆนำไปเป็นแบบอย่างในการประท้วงของท่านมหาตมะ คานธีเป็นอหิงสาที่แท้จริงคือบ่มลึกไปที่จิตใจคน ไม่ให้เกลียดชังและใช้ความเยือกเย็น จนทำให้การชุมนุมประท้วงปราศจากการใช้กำลัง

มหาตมะคานธี ผู้นำและนักการเมืองชาวอินเดีย ถูกลอบสังหารในวัย 78 ปี ขณะเดินเข้าไปในที่ประชุมเพื่อสวดประจำวัน ในสวนเวอริฮาร์กรุงนิวเดลีย์ ขณะที่คานธีกำลังพูดว่า "เห ราม" แปลว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า" ผู้ลอบทำร้ายคือ นาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา ไม่ต้องการให้ฮินดูสมานฉันท์กับมุสลิมได้ยิงปืนใส่คานธี 3 นัด จนคานธีล้มลง เมื่อแพทย์ได้มาพบคานธี ก็พบว่า คานธีได้สิ้นลมหายใจแล้ว

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวถึงมหาตมะ คานธี ว่า “เป็นผู้นำของประชาชนโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจจากสิ่งภายนอก เป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ผู้ตำหนิการใช้กำลังรบ เป็นบุคคลผู้เปี่ยมไปด้วยสติปัญญาและความอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้มีพละกำลังคือความเด็ดเดี่ยวและความเสมอต้นเสมอปลายอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลที่อุทิศกำลังทั้งหมดเพื่อยกระดับจิตใจและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เป็นบุคคลที่เผชิญหน้ากับความก้าวร้าวโหดเหี้ยมของยุโรป ด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ธรรมดานี้เอง และทุกครั้งก็สามารถอยู่เหนือกว่า”



3. เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Sir Tim Berners-Lee)

ทิม เบอร์เนอร์ส- ลี ผู้ให้กำเนิด เวิลด์ ไวด์ เว็บทิม เบอร์เนอร์ส- ลี (Tim Berners-Lee) คือชื่อของผู้ให้กำเนิด WWW ..เข้าว่าพ่อแม่เป็นอัจฉริยะ ลูกก็จะต้องเป็นอัจฉริยะ เช่นกัน เพราะพ่อและแม่ของ ทิม เบอร์เนอร์ส- ลี เป็นทีมผู้สร้างคอมพิวเตอร์ยุคแรก (แมนเชสเตอร์ มาร์ก 1) หรือเพราะพ่อแม่สั่งสอนให้เป็นอัจฉริยะก็ไม่รู้ แต่ที่แน่นๆ เมื่อทิม เบอร์เนอร์ส- ลี จบการศึกษาก็ได้เข้าสู่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ "เซิร์น"
องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (อังกฤษ : European Organization for Nuclear Research, CERN / ฝรั่งเศส : Organisation européenne pour la recherche nucléaire) เรียกโดยทั่วไปว่า "เซิร์น" เป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2497 โดยมีประเทศสมาชิกก่อตั้ง 12 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
งานวิจัยล่าสุดของ เซิร์น คือการตั้งเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider - LHC) ภายในอุโมงค์ใต้ดินรูปวงแหวนขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ใต้ดินของประเทศฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งได้มีการทดลองไปบ้างแล้ว โดยเจ้าเครื่องที่ว่านี้จะเร่งให้อนุภาคโปรตอนชนกัน แล้วสร้างพลังงานและเงื่อนไขที่เหมือนกับเสี้ยววินาทีที่ 1 ในล้านล้านล้านหลังเกิดบิกแบง (Big Bang) ซึ่งในการทดลองครั้งแรกได้ถ่ายทอดสดไปทั่วโลกอีกด้วย
กำเนิดเวิลด์ไวด์เว็บทิม เบอร์เนอร์ส- ลี เข้าไปในเซิร์น ในฐานะลูกจ้างอิสระ ในช่วงปี 2523 เขาได้เสนอโครงการที่ใช้แนวคิด"ข้อความหลายมิติ" หรือ hypertext มาใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนและปรับสมัยข้อมูลระหว่างนักวิจัยด้วยกัน และขณะที่เบอร์เนิร์ส-ลีทำงานอยู่ที่นี่เขาได้สร้างระบบต้นแบบไว้แล้วเรียกชื่อว่า "ENQUIRE" จากนั้นเขาก็ออกจากเซิร์น
ในปี 2527  ทิม เบอร์เนอร์ส- ลี กลับมาที่เซิร์นอีกครั้ง จากนั้นในปี 2532 เขาได้ทำให้เซิร์นได้กลายเป็นศุนย์อินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เขาได้ออกแบบและสร้างเว็บเบราว์เซอร์และเอดิเตอร์ตัวแรกของโลกชื่อว่าWorldWideWeb บนระบบปฏิบัติการ NEXTSTEP ของ "สตีฟ จอบส์" และสร้างเว็บเซิร์ฟเวอร์ขึ้น เรียกว่า httpd (ย่อมาจาก HyperText Transfer Protocal Deamon)เว็บไซต์แรกสุดสร้างขึ้นที่เซิร์น นำขึ้นออนไลน์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ให้คำอธิบายว่าเวิลด์ไวด์เว็บคืออะไร การที่จะเป็นเจ้าของเบราว์เซอร์ทำได้อย่างไรและจะติดตั้งเว็บเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังนับเป็นเว็บไดเร็กทอรีอันแรกของโลกด้วยเนื่องจาก เบอร์เนิร์ส-ลีดูแลรายชื่อของเว็บไซต์อื่นๆ ทั้งหมด นอกจากของตนเองด้วย
หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเขาผู้ให้กำเนิดเวิลด์ไวด์เว็บ น่าจะรวยสุดๆ เพราะเขาสามารถเรียกเก็บ "ค่าสิขสิทธิ์" จากการใช้ระบบนี้ได้ แต่ว่าไม่เลย.. เพราะทิม เบอร์เนอร์ส- ลี  เปิดเผยให้ความคิดแก่ทุกคนและทุกองค์กรโดยไม่คิดมูลค่า เขาไม่เคยจดทะเบียนลิขสิทธิ์การค้นคิดของเขาเลย รวมทั้งไม่เรียกค่าตอบแทนหรือรางวัลอื่นใดจากใคร นอกจากเงินเดือนปกติ ดังนั้น กลุ่มบริษัทเวิลด์ไวด์เว็บจึงตัดสินใจไม่คิดมูลค่าใดๆ จากการนำมาตรฐานของกลุ่มบริษัทไปใช้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายยอมรับมาตรฐานเดียวกันได้บนพื้นฐานทางเทคโนโลยี ไม่ใช่พื้นฐานค่าสิขสิทธิ์ถูกหรือแพง

2. อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel)

เกี่ยวกับเสียงนี้ อัลเฟรด แบร์นฮาร์ด โนเบล (Alfred Bernhard Nobel)  (21 ตุลาคม พ.ศ. 2376สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2439ซานเรโม ประเทศอิตาลีนักเคมีชาวสวีเดน วิศวกร นักประดิษฐ์ ผู้ผลิตอาวุธและผู้คิดค้นดินระเบิดไดนาไมท์ เขาเป็นเจ้าของบริษัทโบโฟรส์ (Bofors) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ โดยเขาได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของโรงงานจากเดิมที่เป็นโรงงานเหล็กและเหล็กกล้า มาเป็นโรงผลิตปืนใหญ่ และอาวุธต่างๆ
ในพินัยกรรมของเขา เขาได้ยกทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลได้จากการผลิตอาวุธให้แก่สถาบันรางวัลโนเบล เพื่อมอบรางวัลแก่บุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติ เรียกว่า รางวัลโนเบล และในโอกาสที่มีการสังเคราะห์ธาตุชนิดใหม่ขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อธาตุนั้นตามชื่อของเขา เพื่อเป็นการให้เกียรติ ว่า โนเบเลียม (Nobelium)

ประวัติ[แก้]

โนเบล ผู้สืบเชื้อสายมาจากนักวิทยาศาสตร์ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชื่อโอลาอุส รุทเบค (Olaus Rudbeck - พ.ศ. 2173 - พ.ศ. 2251) และเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของ อิมมานูเอล โนเบล (พ.ศ. 2344 - พ.ศ. 2415) เกิดที่กรุงสต็อกโฮล์มและย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อ พ.ศ. 2385 ที่ซึ่งบิดาผู้คิดค้นวิธีทำไม้อัดสมัยใหม่ได้งานสร้าง "ตอร์ปีโด" ที่นั่น แต่ต่อมาอัลเฟร็ด โนเบลได้ย้ายไปอเมริกาพร้อมครอบครัวเนื่องจากประสบปัญหาทางการเงิน ที่อเมริกาเขาได้ทุ่มเทตัวเองหันมาศึกษาด้านดินระเบิด โดยเฉพาะชนิดที่มีความปลอดภัยในการผลิตโดยใช้ "ไนโตรกลีเซอร์รีน" (nitroglycerine) ซึ่งค้บพบในปี พ.ศ. 2390โดยแอสคานิโอ โซเบรโนซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับเขาที่มหาวิทยาลัยโทริโน หรือมหาวิทยาลัยแห่งตูริน อิตาลี มีรายงานว่าได้มีการระเบิดขึ้นบ่อยครั้งในโรงงานของครัวของโนเบล ครั้งที่รุนแรงถึงชีวิตในปี พ.ศ. 2407 ได้คร่าชีวิตของน้องชายชองอัลเฟร็ต โนเบลพร้อมคนงานอีกหลายคน
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2444 เป็นต้นมา ได้มีการมอบรางวัลโบเบลเมื่อเป็นเกียรติแก่ชายและหญิงหลายคนจากทุกมุมโลกผู้ซึ่งได้คิดค้นหรือมีผลงานที่ดีเด่นในสาขาต่างๆ ได้แก่สาขาฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วรรณคดีและด้านสันติภาพ การจัดตั้งกองทุนรางวัลโนเบลเกิดขึ้นตามพินัยกรรมฉบับสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2438 ด้วยจำนวนเงินก้อนใหญ่มากที่โนเบลได้มอบให้
ก่อนเสียชีวิตไม่นานัก อัลเฟร็ต โนเบลได้เขียนบทละครเศร้าชื่อ "เทวฑัณท์" (Nmesis)เป็นบทร้อยแก้วความยาว 4 ตอน เป็นเรื่องเกี่ยวกับสตรีอิตาลีผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมอันลือลั่นในกรุงโรมในยุคนั้น บทละครได้รับการตีพิมพ์พอดีกับช่วงการตายของโนเบล หนังสือทั้งหมดถูกทำลายทันทีหลังการตายของเขา แต่ก็มีเหลือรอดอยู่ 3 เล่ม ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ใหม่เมื่อ พ.ศ. 2546
ศพของอัลเฟร็ด เบิร์นฮาร์ท โนเบลได้รับการฝังไว้ในกรุงสต็อกโฮล์ม

ดินระเบิดไดนาไมท์[แก้]

อัลเฟร็ด เบิร์นฮาร์ท โนเบลได้ค้นพบว่าเมื่อนำสารไนโตรกลีเซอรินมารวมกับตัวซึมซับเฉื่อย เช่นผงไดอะตอมมาเชียส (diatomaceous earth - ผงที่ทำจากซากไดอะตอมชนิดเดียวกับที่ใช้กรองน้ำในสระว่ายน้ำทั่วไป) จะมีความปลอดภัยมากในการผลิต ซึ่งโนเบลได้จดสิทธิบัตรในปี พ.ศ. 2410 โดยใช้ชื่อว่า "ไดนาไมท์" และได้สาธิตดินระเบิดแบบใหม่ของเขาในปีนั้นในเหมืองแห่งหนึ่งในอังกฤษ
ขั้นต่อมา โนเบลได้ผสมไนโตรกลีเซอรินกับดินระเบิดชนิดอื่น (gun cotton) ได้สารชนิดใหม่ที่เป็นเยลลี่ใสที่ระเบิดได้รุนแรงกว่าไดนาไมท์ เรียกว่าเจลลิกไนท์ หรือเจลระเบิดซึ่งโนเบลได้จดสิทธิบัตรเมื่อปี พ.ศ. 2419 และก็ได้มีดินระเบิดใหม่หลายชนิดตามมาจาการผสมโพแตสเซียมไนเตรทและสารชนิดอื่นๆ ดินส่วนใหญ่ในนั้น เป็นดินที่มีคุณภาพที่ค่อนข้างจะมีมากอยู่หลายชนิด ทำให้ อัลเฟร็ด โนเบล ประสบความสำเร็จในด้านนี้อย่างมากเลยทีเดียว

รางวัล[แก้]

กล่าวกันว่าการตีพิมพ์คำไว้อาลัยการเสียชีวิตก่อนการตายของโนเบล เมื่อ พ.ศ. 2431 (โนเบลโดยหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสฉบับหนึ่งซึ่งประณามการคิดค้นไดนาไมท์(โนเบลตายปี พ.ศ. 2439) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โนเบลตัดสินใจใช้มรดกของเขาในทางที่เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ในคำไว้อาลัยของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเขียนถากถางไว้ว่า
"พ่อค้าความตายได้ตายไปแล้ว" และเขียนต่ออีกว่า
"ดร. อัลเฟร็ต โนเบลผู้ซึ่งร่ำรวยมหาศาลด้วยการคิดค้นวิธีฆ่าคนให้ได้จำนวนมากขึ้น เร็วขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนได้ตายเสียแล้วเมื่อวานนี้"
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2438 ณ สโมสรสวีเดน-นอร์เวย์ ในนครปารีส โนเบลได้ลงนามในพินัยกรรมฉบับสุดท้ายของเขาพร้อมคำสัญญายกที่ดินและทรัพย์สินจำนวนมหาศาลเพื่อใช้จัดตั้งรางวัลโนเบลสำหรับมอบแก่ผู้ทำประโยชน์ดีเด่นแก่โลกโดยไม่เลือกสัญชาติ
อัลเฟร็ต โนเบล ถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2439 ที่เมืองซานรีโม ประเทศอิตาลี จำนวนทรัพย์สินที่มอบให้แก่กองทุนรางวัลโนเบลมีมูลค่าในขณะนั้นเป็นจำนวน 31 ล้านโครนหรือ 4,233,500.00 ดอลลาร์สหรัฐ
3 รางวัลแรกมอบให้แก่วิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ เคมีและวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือสรีรวิทยา รางวัลที่ 4 มอบให้แก่งานด้านวรรณคดี รางวัลที่ 5 มอบให้บุคคลหรือสถาบันที่มีบทบาทสำคัญที่สร้างความปรองดองในระดับนานาชาติ ลดการกดขี่หรือลดจำนวนกองกำลังรบ หรือสร้างสันติภาพ
การมอบรางวัลด้านวรรณคดีมีปัญหาในตอนแรกจากการตีความ โดยตีความว่าให้กับผลงานที่มีความสำคัญมากกว่างานเขียนที่เป็นอุดมคติหรือที่โรแมนติก ทำให้ลีโอ ตอลสตอยไม่ได้รับการพิจารณา การตีความนี้ได้รับการแก้ไขในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีปัญหาการตีความเกิดขึ้นอีกหลายกรณี โดยเฉพาะระหว่างงานด้านวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ซึ่งตีความกันว่าโนเบลมุ่งให้เฉพาะวิทยาศาตร์สาขาฟิสิกส์ ทำให้วิศวกรไม่ได้รับการพิจารณาต้นเหตุเกิดจากการที่โนเบลไม่ได้ปรึกษาหารือผู้ใดเกี่ยวกับความเฉพาะของสาขาในการเขียน และการเขียนก็สั้นเพียงหน้าเดียว

ข่าวลือรางวัลโนเบล[แก้]

การที่ไม่มีรางวัลโนเบลในสาขาคณิตศาสตร์อยู่ด้วยนั้น มีข่าวลือกันในขณะนั้นว่าการที่โนเบลไม่ยอมให้มีสาขาคณิตศาสตร์มีสาเหตุจากผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นคู่หมั้นเก่าหรือภรรยาลับที่ปฏิเสธความรักของเขา หรือโกงเขาและจากไปอยู่กับนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ กอสตา มิตแทก เลฟเฟลอร์ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดทางประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนข่าวลือนี้
อัลเฟร็ด เบิร์นฮาร์ท โนเบลเป็นคนโสดไม่เคยแต่งงานตลอดชีวิต



1. เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)

หากจะเอ่ยถึงนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ในทศวรรษนี้ คงจะไม่มีใครปฏิเสธชื่อของ เนลสัน แมนเดลา อย่างแน่นอน เพราะหากปราศจากบุคคลผู้นี้แล้ว โลกของเราก็คงจะยังมีการเหยียดสีผิว..ใช่แล้วล่ะ เขาเป็นรัฐบุรุษของโลก ผู้อุทิศตนต่อสู้เพื่อล้มล้างลัทธิเหยียดผิว และผลักดันให้เกิดสันติภาพทั่วโลก

          และจากข่าวการจากไปของ เนลสัน แมนเดลา ในช่วงที่ผ่านมานี้ ก็พลอยทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในแอฟริกาใต้ต่างเศร้าโศกกับข่าวดังกล่าว จนทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับบุคคลผู้นี้ และเขาได้สร้างวีรกรรมอะไรให้กับโลกเราบ้าง วันนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวประวัติชีวิตและการต่อสู้ของ เนลสัน แมนเดลา 

          โดย เนลสัน แมนเดลา เกิดวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ในครอบครัวชาวเทมบู ซึ่งพูดภาษาโซซา ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางฟากตะวันออกของแหลมเคปของแอฟริกาใต้ เดิมมีชื่อว่า มาดิบา ต่อมาครูในโรงเรียนได้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้เขาว่า แมนเดลา

          ต่อมาพ่อของเขาซึ่งเป็นที่ปรึกษาของตระกูลผู้ปกครองชาวเทมบู ได้เสียชีวิตขณะที่เขามีอายุได้ 9 ขวบ เขาจึงได้รับการชุบเลี้ยงจากรักษาการผู้สำเร็จราชการเมืองเทมบู จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2484 เมื่อมีอายุ 23 ปี เนลสัน แมนเดลา ได้หนีจากการถูกจัดให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน หลบไปอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ก่อนจะเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิทส์วอเทอแรนด์ ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน และที่นี่ทำให้เขาได้พบเจอผู้คนจากทุกเชื้อชาติ ได้รับความคิดแบบเสรีนิยม และความคิดต่อสู้เพื่อชาวแอฟริกัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเหยียดผิว การถูกกระทำแบบสองมาตรฐาน ซึ่งผลักดันให้เขากลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางก
ารเมือง

          โดยในปี พ.ศ. 2486 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน หรือเอเอ็นซี และต่อมาได้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตยุวชนเอเอ็นซี อีกทั้งเขาได้ร่วมกับเพื่อน โอลิเวอร์ แทมโบ ก่อตั้งสำนักงานกฎหมายในเมืองโจฮันเนสเบิร์กในปี พ.ศ. 2495 รณรงค์ต่อต้านระบอบปกครองที่เหยียดผิวของพรรคคนผิวขาว ที่กดขี่ชาวผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จนทำให้ในปีพ.ศ. 2499 แมนเดลาถูกแจ้งข้อหากบฏพร้อมกับนักเคลื่อนไหวอีก 155 คน แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเขาหลังสอบสวนอยู่นาน 4 ปี

          ต่อมาได้มีการออกกฎหมาย Pass Laws ฉบับใหม่ซึ่งจำกัดเขตอยู่อาศัยและทำมาหากินของคนผิวดำ ทำให้กระแสต่อต้านการเหยียดผิวได้ขยายตัวไปทั่วแอฟริกาใต้ ขณะที่พรรคเอเอ็นซีก็ถูกประกาศให้เป็นกลุ่มเถื่อนในปี พ.ศ. 2503 ทำให้ เนลสัน แมนเดลาต้องหลบลงใต้ดิน อย่างไรก็ดี กระแสการต่อต้านลัทธิเหยียดผิวได้รุนแรงขึ้นจนถึงที่สุดเมื่อตำรวจได้สังหารหมู่ชาวผิวดำ 69 คนในเมืองชาร์ปวิลล์ในปีเดียวกันเนลสัน แมนเดลา ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานเอเอ็นซี ได้เปิดปฏิบัติการวินาศกรรมทางเศรษฐกิจจนกระทั่งถูกจับในที่สุด และเขาถูกแจ้งข้อหาก่อวินาศกรรม และพยายามโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรง โดยระหว่างการพิจารณาคดีที่เมืองริโวเนีย แมนเดลาได้ประกาศความเชื่อของเขาในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียมว่า

          "ผมเชิดชูอุดมคติเรื่องสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ ที่ซึ่งคนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือสังคมอุดมคติที่ผมปรารถนาจะไปให้ถึง เป็นอุดมคติที่ผมพร้อมจะอุทิศชีวิตให้"

          อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2507 เขาถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตบนเกาะร็อบเบนเป็นเวลา 18 ปี ก่อนถูกย้ายมายังเรือนจำโพลส์มัวร์บนแผ่นดินใหญ่ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งขณะที่เขาถูกจองจำอยู่นั้น พวกเยาวชนตามเมืองต่าง ๆ ของชนผิวดำยังคงต่อสู้กับการปกครองโดยคนผิวขาวส่วนน้อยต่อไป จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก

          ขณะที่ทางฝั่งของ โอลิเวอร์ แทมโบ สหายของแมนเดลา ผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ เขาได้เริ่มรณรงค์ในระดับสากล เรียกร้องให้ปล่อยตัวมิตรร่วมอุดมการณ์ในปี พ.ศ. 2523  โดยมีการจัดคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาเวมบลีย์ในกรุงลอนดอนในปี 2531 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 72,000 คน อีกหลายล้านทั่วโลกรับชมทางโทรทัศน์ และร่วมร้องเพลงเพื่อให้ปลดปล่อยเนลสัน แมนเดลา

          โดยกระแสเรียกร้องนี้ ทำให้บรรดาผู้นำโลกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อระบอบเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 แล้ว จนในที่สุด ประธานาธิบดี เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิร์ก ก็ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันจากทั่วโลกได้ และเลิกสั่งแบนพรรคเอเอ็นซีในปี พ.ศ. 2533 พร้อมกับปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา

          ในปี พ.ศ. 2536 เนลสัน แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และต่อมาชาวแอฟริกาใต้ทุกผิวสีได้ออกเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ทำให้ เนลสัน แมนเดลาได้รับเสียงโหวตท่วมท้นให้เป็นประธานาธิบดีในวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ซึ่งเขาได้ปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวหรือชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ และได้รับความยกย่องจากนานาชาติสำหรับการอุทิศตนเพื่อการประสานไมตรีทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 เขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และได้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเขายังคงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับเรื่องสิทธิมนุษยชนและให้ความรู้เรื่องการติดต่อของโรคเอดส์จนกระทั่งอายุ 85 ปี ก่อนจะขอเกษียณเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

          และถึงแม้ว่า ณ วันนี้ เนลสัน แมนเดลา จะถึงแก่อสัญกรรมแล้ว หลังจากป่วยด้วยโรคปอดและเกิดอาการแทรกซ้อนเรื้อรังมาอย่างอย่างนาน กระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่เขาก็ยังคงเป็นรัฐบุรุษของโลก และนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ที่อยู่ในหัวใจของคนทั่วโลกตลอดกาล